“เงินติดล้อ” ตอกย้ำศักยภาพทางธุรกิจ “ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ” ให้คำแนะนำซื้อ เคาะราคาเป้าหมาย 55 บาท   รับกำไร Q1/65 ทำนิวไฮ พอร์ตสินเชื่อและเบี้ยประกันเติบโตโดเด่น ต้นทุนการเงินต่ำ
“เงินติดล้อ” ตอกย้ำศักยภาพทางธุรกิจ “ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ” ให้คำแนะนำซื้อ เคาะราคาเป้าหมาย 55 บาท   รับกำไร Q1/65 ทำนิวไฮ พอร์ตสินเชื่อและเบี้ยประกันเติบโตโดเด่น ต้นทุนการเงินต่ำ

“เงินติดล้อ” ตอกย้ำศักยภาพทางธุรกิจ “ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ” ให้คำแนะนำซื้อ เคาะราคาเป้าหมาย 55 บาท รับกำไร Q1/65 ทำนิวไฮ พอร์ตสินเชื่อและเบี้ยประกันเติบโตโดเด่น ต้นทุนการเงินต่ำ

บมจ.เงินติดล้อ ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจแข็งแกร่ง โบรกเกอร์ชั้นนำ “ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ” ให้คำแนะนำซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 55 บาทต่อหุ้น หลังไตรมาส 1/2565 ทำกำไรสุทธินิวไฮที่ 940 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อและเบี้ยประกันภัยเติบโตโดดเด่น จากการขยายสาขา ออกบัตรติดล้อ รักษาเอ็นพีแอลและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ ตั้งสำรองหนี้สูงกว่า 3 เท่าของเอ็นพีแอล ด้านผู้บริหารวางเป้าหมายปี 2565 ดันพอร์ตสินเชื่อเติบโต 20 – 25% และเบี้ยประกันภัยขยายตัว 30 – 35% เดินหน้าขยายการเติบโตผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ คาดเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการสินเชื่อ

หลังจาก บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2565 มีกำไรสุทธิทำสถิติสูงสุดใหม่และมีอัตราเติบโตอย่างโดดเด่น ล่าสุด บริษัท ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์หุ้น TIDLOR ให้คำแนะนำ “ซื้อ” และให้ราคาเป้าหมายในช่วง 12 เดือนข้างหน้าที่ 55 บาทต่อหุ้น ซึ่งราคาเป้าหมายดังกล่าวมีอัพไซด์ถึง 63% จากราคาหุ้น 33.75 บาท (ณ ช่วงปิดตลาดวันที่ 18 พฤษภาคม 2565) หลังจากมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 940 ล้านบาท เติบโต 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 18.2% จากไตรมาสก่อนหน้า

ขณะเดียวกัน พอร์ตสินเชื่อของ บมจ.เงินติดล้อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2565 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเป็น 6.57 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 6.9% จากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงมียอดปล่อยสินเชื่อในเดือนมีนาคม 2565 ทำสถิติสูงสุดใหม่ ส่วนเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 1,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความสำเร็จของการทำแคมเปญสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถกระบะพร้อมบัตรติดล้อ แคมเปญสินเชื่อรถบรรทุกอัตราดอกเบี้ย 0.79% ต่อเดือน รวมถึงให้ลูกค้าผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยรถด้วยเงินสด 0% สูงสุด 10 งวด ส่วนคุณภาพลูกหนี้และ Credit cost อยู่ในระดับที่ดีกว่าอุตสาหกรรม มีอัตราเอ็นพีแอลต่ำเพียง 1.25% จากการพิจารณาสินเชื่ออย่างรัดกุม ในขณะที่การตั้งสำรองหนี้ที่อยู่ในระดับสูงถึง 317% หรือมากกว่า 3 เท่าของเอ็นพีแอล นอกจากนี้ Cost to Income หรือค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้ ลดลงจาก 61% เหลือ 57.5% รวมถึงมีต้นทุนทางการเงินต่ำเพียง 1.7% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.4%

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า บริษัทฯ ลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากว่า 10 ปี และรุกขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสาขาให้บริการรวมมากกว่า 1,400 สาขา และมีจุด Touchpoint อีกกว่า 60,000 แห่ง ขณะที่มูลค่าสินเชื่อต่อสาขาปัจจุบันอยู่มากกว่า 40 ล้านบาท สะท้อนว่าการลงทุนเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมแบบ Self - Service เพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน “เงินติดล้อ” ที่มีการใช้บริการเกิดขึ้นกว่า 1 ล้านรายการต่อไตรมาส ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยถือเป็นผู้ประกอบการอันดับ 2 ในตลาด โดยมีพนักงานที่มีใบอนุญาตขายประกันภัยถูกต้องพร้อมให้คำแนะนำด้านประกันภัยมากกว่า 5,000 คน และได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้ลูกค้าทุกรายผ่อนชำระเบี้ยประกัน 0% ได้สูงสุด 10 เดือน รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มอารีเกเตอร์ ซึ่งเป็น Insure Tech ที่เชื่อมต่อระบบของเงินติดล้อเข้ากับบริษัทประกันภัยเกือบ 20 ราย

สำหรับปี 2565 ได้วางเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเติบโต 20 - 25% และเบี้ยประกันภัยเติบโต 30 – 35% โดยมีเป้าหมายขยายสาขาใหม่ในปีนี้ไม่น้อยกว่า 300 สาขา พร้อมทั้งมุ่งเน้นการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและการพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุมเพื่อรักษา Credit Cost (ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ) อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5% รักษาอัตราเอ็นพีแอลไม่เกิน 2% โดยจะมุ่งเน้นลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการและส่งผลดีต่อ Cost to Income ลดลง

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ภาพรวมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ โดยจะใช้เทคโนโลยีและนว้ตกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้มองว่าการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือรองรับการขยายธุรกิจ รวมถึงความต้องการซื้อประกันภัยรถเพื่อรองรับการเดินทาง โดยบริษัทฯ พร้อมช่วยลดภาระแก่ผู้ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบกิจการ ภายใต้สถานการณ์ที่ค่าครองชีพสูงขึ้น

Back to Press Releases