Banner นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบนและ<br>การทุจริตคอร์รัปชัน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบนและ
การทุจริตคอร์รัปชัน

เงินติดล้อ ได้กำหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน (Policy and Program for Anti-Bribery and Corruption) โดยมีหลักการสำคัญคือการไม่ยอมผ่อนปรนต่อการกระทำทุจริตคอร์รัปชัน หรือการละเมิดต่อหลักการที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดไว้ทุกรูปแบบ

โดยกำหนดมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติงานให้ครอบคลุมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน การสื่อสารและส่งเสริมการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันในกิจกรรมที่มีความเสี่ยง การจัดให้มีช่องทางในการแจ้งเบาะแส การบันทึกบัญชีและจัดเก็บเอกสารอย่างถูกต้อง รวมถึงการกำหนดการควบคุมภายในอย่างเหมาะสมในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

1. การให้หรือรับของขวัญ หรือการให้หรือรับค่าเลี้ยงรับรองหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

การให้หรือรับของขวัญ หรือการให้หรือรับค่าเลี้ยงรับรองหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะต้องมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงถูกต้องตามกฎหมายที่บังคับใช้ในแต่ละประเทศที่บริษัท และคู่สัญญามีการประกอบธุรกิจ กรณีที่การให้หรือรับของขวัญ หรือการให้หรือรับค่าเลี้ยงรับรองหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มีมูลค่าสูงกว่าที่กำหนดหรือมีความเสี่ยงสูงจะต้องขออนุมัติก่อนทำรายการ นอกจากนี้ บริษัทได้ขอความร่วมมือจากผู้บริหารและพนักงาน “งดรับของขวัญ” ในช่วงเทศกาลและโอกาสต่าง ๆ เป็นประจำทุกปี และสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบด้วย

2. การบริจาคและการจ่ายเงินสนับสนุน

ห้ามบริจาคเงิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดและจ่ายเงินสนับสนุน ให้บุคคลหรือนิติบุคคลใด เมื่อกิจกรรมนั้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงการให้สินบน หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมนั้นเมื่อมีเจตนาหรือแสดงให้เห็นอย่างสมเหตุสมผลว่ามีเจตนาเพื่อให้ได้มาหรือคงไว้ซึ่งข้อได้เปรียบทางธุรกิจใด ๆ

โดยการบริจาคและจ่ายเงินสนับสนุนจะต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานภาพและตัวตนที่แท้จริงของบุคคลหรือหน่วยงานที่จะรับบริจาคหรือรับเงินสนับสนุนและจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายก่อนการดำเนินการ กรณีที่รายการมีมูลค่าสูงกว่าที่กำหนดหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไข จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการประเมินความเสี่ยงและขออนุมัติจากผู้มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายก่อนการทำรายการ

3. การช่วยเหลือ / สนับสนุนทางการเมือง

บริษัทไม่อนุญาตให้มีการสนับสนุนทางการเมืองไม่ว่าเป็นการดำเนินการโดยส่วนตัวหรือในนามของบริษัท ที่เป็นการสร้างอิทธิพลต่อบุคคลภายนอกและอาจทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว หรือเพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจของบริษัทอย่างไม่เหมาะสม และห้ามพนักงานช่วยเหลือ/สนับสนุนทางการเมืองด้วยทรัพย์สินของบริษัท หรือในนามของบริษัท เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ / สนับสนุนทางการเมือง ทั้งนี้ ในกรณีที่ให้การช่วยเหลือ / สนับสนุนทางการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายก่อนการดำเนินการ

4. ค่าวิทยากรและค่าธรรมเนียมวิชาชีพ

หลีกเลี่ยงการจ่ายค่าวิทยากรและค่าธรรมเนียมวิชาชีพให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะการจ่ายเงินดังกล่าวอาจถูกพิจารณาได้ว่ามีจุดมุ่งหมายหรือมีเจตนาที่จะจูงใจผู้รับ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐมาเป็นวิทยากร หรือจ่ายเงินค่าวิทยากร / ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ กรณีที่ค่าจ้างมีมูลค่าสูงกว่าอัตราที่กำหนด จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการประเมินความเสี่ยงและขออนุมัติจากผู้มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายก่อนการทำรายการ

5. การจ้างงานหรือฝึกงาน

ห้ามว่าจ้างงานหรือให้การฝึกงานแก่ผู้สมัคร (ทั้งในกรณีที่มีการจ่ายหรือไม่จ่ายค่าจ้าง) โดยคาดหวังว่าจะได้รับหรือคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ หรือข้อได้เปรียบทางธุรกิจอย่างไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ในกรณีจะเสนอให้มีการว่าจ้างงานหรือให้การฝึกงานแก่ผู้สมัครที่มีความเสี่ยงสูง (ผู้สมัครที่บริษัททราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลูกค้า หรือผู้ที่อาจจะเป็นลูกค้า หรือผู้สมัครที่ได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลูกค้า หรือผู้ที่อาจจะเป็นลูกค้า หรือผู้สมัครที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวใกล้ชิดหรือมีความสัมพันธ์ในครอบครัวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ลูกค้า หรือผู้ที่อาจจะเป็นลูกค้า) บริษัทจะต้องปฏิบัติต่อผู้สมัครรายดังกล่าว ในลักษณะเดียวกันกับผู้สมัครรายอื่น (ผู้สมัครรายดังกล่าวต้องไม่ได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ) และต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการประเมินความเสี่ยงและขออนุมัติจากผู้มีอำนาจที่ได้รับมอบหมายก่อนทำการว่าจ้างงานหรือให้การฝึกงาน

6. บุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่ในนามของบริษัท(Third Parties Intermediaries - TPIs)

TPIs อาจทำให้ความเสี่ยงการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันสูงขึ้น เนื่องจาก TPIs อาจมีการมอบสิ่งอื่นใดที่มีมูลค่าทางการเงินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ลูกค้า หรือผู้ที่อาจจะเป็นลูกค้า เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทซึ่งสินบนที่ TPIs เป็นผู้จ่ายเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทสามารถสร้างความเสียหายได้เทียบเท่ากับพนักงานของบริษัทเป็นผู้จ่ายสินบนเอง

บริษัทจึงกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) ของ TPIs และมีการจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อการตรวจสอบ ทั้งนี้ ในการสร้างความสัมพันธ์กับ TPIs จะต้องจัดให้มี “ข้อตกลงผูกพันและความรับผิด” ในสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และการขออนุมัติทำรายการ พร้อมทั้งกำหนดให้มีปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา เช่น ประวัติ ประสบการณ์ ความมีชื่อเสียงที่ดี เป็นต้น และกำหนดให้ TPIs รับทราบเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งบริษัทจะไม่สร้างหรือระงับความสัมพันธ์ในกรณีที่พบว่า TPIs ได้มีการฝ่าฝืนมาตรการด้านการต่อต้านการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน โดยครอบคลุมถึงการทำธุรกรรมกับรัฐบาลทั้งในและต่างประเทศ และไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน พร้อมทั้งควบคุมการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ให้กับ TPIs โดยจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการธุรกรรม การบันทึกและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และมีการอนุมัติโดยผู้มีอำนาจที่ได้รับมอบหมาย

7. การควบรวมกิจการหรือการทำกิจการร่วมค้า

ในการควบรวมกิจการหรือการทำกิจการร่วมค้า บริษัทกำหนดให้มีการตรวจสอบที่เหมาะสมก่อนเข้าทำรายการ ว่ากิจการที่ต้องการควบรวมหรือร่วมค้านั้น มีประวัติหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดกฎหมายในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันและตรวจสอบการชำระเงินที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตคอร์รัปชัน โดยต้องจัดให้มีการประเมินความเพียงพอของมาตรการด้านต่อต้านการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน การควบคุมภายในและการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมและเป็นจริง พร้อมทั้งกำหนดให้มีข้อความ Anti-Bribery Representations & Warranties ในสัญญาการควบรวมหรือร่วมค้าว่าด้วยเรื่องการห้ามกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น

ทั้งนี้ บริษัทได้รับการรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงเจตนารมณ์ของบริษัท ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ภายใต้แนวนโยบายและมาตรการที่กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ทุกคนอยู่ภายใต้ข้อผูกพันและต้องลงนามรับทราบในการที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการในการต่อต้านการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจะมีโทษทางวินัยหากมีการละเมิดนโยบายและมาตรการดังกล่าว

กระบวนการในการรับแจ้งเบาะแส

กระบวนการในการรับแจ้งเบาะแส หรือ Whistleblowing Program คือเครื่องมือหนึ่งที่บริษัทนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนเมื่อพบหรือสงสัยว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อกฎเกณฑ์หรือแนวทางที่บริษัทกำหนด โดยเบาะแสดังกล่าวจะถูกติดตามและสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและกำหนดแนวทางแก้ไขเพื่อรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลการแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และผู้แจ้งเบาะแส หรือ ผู้ร้องเรียน และผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจะได้รับการคุ้มครอง จากการตอบโต้กลั่นแกล้ง ข่มขู่ ในขณะที่การไม่ให้ความร่วมมือ หรือขัดขวางการตรวจสอบ จะเป็นเหตุให้มีการลงโทษทางวินัยสูงสุด

ช่องทางการแจ้งเบาะแสของบุคคลภายนอก

  1. กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มการแจ้งเบาะแส ที่ปรากฏในเว็บไซต์ คลิก
  2. ส่งอีเมล์มาที่ Whistleblowing@tidlor.com หรือ
  3. แจ้งเบาะแสมาที่ Ombudsperson โดยส่งจดหมาย หรือโทรศัพท์

    - ผู้อำนวยการแผนกแรงงานสัมพันธ์ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) 428 อาคารอารีย์ ฮิลล์ ชั้น 9-15 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02-792-1860 หรือ

    - ผู้บริหารฝ่ายตรวจสอบและป้องกันการทุจริต บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) 428 อาคารอารีย์ ฮิลล์ ชั้น 9-15 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02-792-1888 ต่อ 5200 หรือ

  4. ส่งจดหมายมาที่ “ผู้บริหารฝ่ายตรวจสอบภายใน” หรือ “ผู้บริหารฝ่ายกำกับธุรกรรม” บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) 428 อาคารอารีย์ ฮิลล์ ชั้น 9-15 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

กรณีต้องการร้องเรียน แนะนำ ชมเชยบริการ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ข้อมูลสาขา หรือเรื่องอื่น ๆ โปรดแจ้งที่นี่ คลิก